โลโก้เว็บไซต์ โครงการติดตามความก้าวหน้าและสรุปบทเรียน โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้าน/ชุมชนแบบมีส่วนร่วม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 บ้านขามสุ่มเวียง คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ | คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์

โครงการติดตามความก้าวหน้าและสรุปบทเรียน โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้าน/ชุมชนแบบมีส่วนร่วม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 บ้านขามสุ่มเวียง คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 22 กรกฎาคม 2559 โดย นางสาวหนึ่งฤทัย แสงใส จำนวนผู้เข้าชม 2228 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

         วันที่ 22 กรกกฏาคม 2559  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร ฝั้นชมภู คณบดีคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คณะผู้บริหาร นายไพโรจน์ วรพจน์พรชัย ผู้รับผิดชอบโครงการ รวมถึงคณะกรรมการในการดำเนินโครงการ เข้าร่วมโครงการติดตามความก้าวหน้าและสรุปบทเรียน โครงการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้าน/ชุมชนแบบมีส่วนร่วม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ได้รับเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิจากท่านอุดม มณีขัติย์ รศ.สุทัศน์ จุลศรีไกรวัล รศ.ดร.อภิรักษ์ เพียรมงคล ดร.อรุณี ยศบุตร และนายเกรียงไกร ธารพรศรี รองผู้อำนวยการสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน รวมถึงบุคลากรสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยมีนายกิติพัฒน์ สุนทรพันธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพร้าว หัวหน้าส่วนราชการ  เครือข่ายต่าง ๆ คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ร่วมตรวจเยี่ยมพื้นที่ดำเนินงานของโครงการ ซึ่งได้ดำเนินงานต่อเนื่องปีที่ 2 ในงบประมาณ พ.ศ. 2559

        คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้น้อมนำเอากระบวนทัศน์ในการพัฒนาก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น เป้าหมายเพื่อพัฒนาและสร้างชุมชนให้มีสิ่งแวดล้อมชุมชนที่ดี การดำรงชีพในยุคที่มีทรัพยากรจำกัด ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงและที่สำคัญคือรักชุมชนของตนมากขึ้น ตามวิสัยทัศน์ของหมู่บ้านที่ว่า “ชุมชนเข้มแข็ง เรียนรู้ร่วมกัน ผู้นำมีความคิดสร้างสรรค์ ยึดหลักประชาธิปไตยปลอดภัยยาเสพติด รู้คุณค่าผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสคนพิการ ฝึกฝนกลุ่มอาชีพและเศรษฐกิจของชุมชน” คณะฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญว่าควรจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำข้อมูลบริบทชุมชนมาวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาหมู่บ้านขามสุ่มเวียง ตำบลเวียง  อ.พร้าว  จ.เชียงใหม่  และได้ร่วมพิจารณาถึงแผนในการดำเนินการในระยะยาว ซึ่งมุ่งหวังในการสร้างเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งเกิดจากตัวชุมชนเองและมีหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนเป็นผู้กระตุ้นส่งเสริมในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต โดยมีเป้าหมายร่วมให้คนในชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปผลิตเอง ใช้เอง และแบ่งปัน เพื่อส่งเสริมอาชีพ สร้างกลุ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในสังคมชุมชนในหมู่บ้านขามสุ่มเวียง ด้วยการบูรณาการวิทยาการทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านสนับสนุนชุมชนให้มีบทบาทรองรับความอ่อนแอของครอบครัว และด้านการดูแลความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของชุมชนและโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจุบันบ้านขามสุ่มเวียง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอ ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 700 เมตร  ลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตชุมชน มีทุ่งนาเล็กน้อยเป็นที่ราบลุ่ม  จำนวนครัวเรือน 172 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 526 คน แยกเป็นชาย 247 คน หญิง 279 คน  ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการทำนาเป็นหลัก หลังจากหมดฤดูทำนาชาวบ้านส่วนใหญ่จะหารายได้จากการไปรับจ้างทั่วไป กินอยู่อย่างเรียบง่ายมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สังเกตได้ง่ายถ้ามีงานส่วนรวมขึ้นมาชาวบ้านต่างมาช่วยงานกันอย่างขมีขมัน เช่น งานแต่งาน งานศพ งานทำบุญตามวัดวาอารามต่างๆ มีวัดขามสุ่มเวียงและวัดกลางเวียงเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนนี้    และมีการรวมกลุ่มกันเช่น กลุ่มองค์กรศาสนา   กลุ่มอาสาสมัครสารธารณสุขประจำหมู่บ้าน  กลุ่มเยาวชนดนตรีพื้นเมือง กลุ่มแม่บ้านขามสุ่มเวียง กลุ่มทำน้ำพริกนรกปลากรอบแม่มาลี กลุ่มเยาวชนจิตอาสา เป็นต้น

      ดังนั้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้าน ชุมชน แบบมีส่วนร่วม นอกจากชุมชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการภายใต้ชื่อ “การสร้างหมู่บ้านเข้มแข็ง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” แล้ว บุคลากรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จะเกิดการพัฒนาองค์ความรู้จากการให้บริการวิชาการและการสร้างงานวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาวงการวิชาการและพัฒนาประเทศและพัฒนานักศึกษาในการสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาจากประสบการณ์จริงโดยนักศึกษาที่ร่วมโครงการจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจากปัญหา สถานที่จริงและกลุ่มคนจริง เป็นการสร้างความเชี่ยวชาญในวิชาชีพให้กับนักศึกษาอย่างรอบคอบสมกับปณิธานในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

กิจกรรมที่ดำเนินงานแล้ว ประกอบด้วย

1. โครงการฝึกอบรมนวดกดจุดสะท้อนเท้า

2. โครงการฝึกอบรมนวดสปา

3. โครงการออกแบบสปาชุมชน

4. โครงการออกแบบกุฏิสงฆ์วัดขามสุ่มเวียง

5. โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านขามสุ่มเวียง

6. โครงการฝึกอบรมทำยาหม่องสมุนไพรและน้ำมันเหลือง

7. โครงการผลิตกระดาษจากเศษวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

8. โครงการพัฒนาเครื่องปั้มดอกไม้จากกระดาษเพื่อทำพวงหรีดและดอกไม้จันทน์

9. โครงการฝึกอบรมการทำลูกประคบสมุนไพร

10. โครงการฝึกอบรมการทำน้ำยาซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่ม

11. โครงการเก็บข้อมูลโครงการยกระดับฯเพื่อจัดทำสื่อสารสนเทศ

12. ฝึกอบรมการกออกแบบบรรจุภัณฑ์ของชำร่วยสำหรับ  ยาดมส้มมือ สบู่สมุนไพรและโลชั่นสมุนไพรเพื่อจัดจำหน่าย

13. โครงการฝึกอบรมการออกแบบและตกแต่งการจัดดอกไม้และช่อแจกันในพิธีต่างๆ


เรื่อง : นางสาวหนึ่งฤทัย แสงใส

ภาพ : นายจักรรินทร์ ชื่นสมบัติ








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา